ชะตากรรมของเหยื่อ

ชะตากรรมของเหยื่อ

          คณะวิจัยจาก University of Geosciences (Beijing) เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ได้เปิดเผยข้อมูลใหม่ของไดโนเสาร์ เกี่ยวกับชะตากรรมการถูกล่า ก่อนที่จะตายลง จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งอาจนำไปสู่วิธีการศึกษาซากดึกดำบรรพ์สมัยใหม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใหม่มากขึ้นในปัจจุบัน

ลูเฟ็งโกซอรัส (Lufengosaurus huenei) กับรอยถูกกัดบริเวณซี่โครงด้านขวา
เครดิต : 
Zongda Zhang/Lida Xing, CC BY-SA

          ไดโนเสาร์ผู้ที่ได้รับการเปิดเผยชะตากรรมก่อนตายนั้นคือ ลูเฟ็งโกซอรัส (Lufengosaurus huenei) เป็นไดโนเสาร์ในกลุ่มซอโรพอดกินพืช มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นยุคจูราสสิค (Lower Jurassic) หรือประมาณ 170 - 200 ล้านปีก่อน ขนาดยาวประมาณ 6 เมตร และหนักประมาณ 2 ตัน ถูกค้นพบในมณฑลยูนนาน เมื่อปี 2540

ตำแหน่งที่พบซากดึกดำบรรพ์ของลูเฟ็งโกซอรัส เครดิต : Lida Xing
           การค้นพบในครั้งแรกนั้น พบว่าโครงกระดูกมีความผิดปกติบริเวณซี่โครงด้านขวาของมัน คือ มีรอยเว้าแหว่งหายไปเกือบครึ่งนึง เมื่อมองจากด้านข้าง ซึ่งการศึกษาในอดีต ทำได้เพียงแค่ศึกษาจากลักษณะภายนอก การศึกษาลักษณะภายในทำได้ยาก เพราะอาจต้องมีการตัด หรือทำลายตัวอย่างซึ่งมีคุณค่าของชาติ ทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่มากนักเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ชนิดนี้

กระดูกซี่โครงของลูเฟ็งโกซอรัส ที่มีรอยแหว่ง เครดิต : Lida Xing
           หลังจากนั้น 20 ปี เทคโนโลยีในโลกปัจจุบันมีการพัฒนามากขึ้น ทำให้ไม่ต้องตัด ผ่า หรือทำลายตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ เรียกว่า X-ray micro-computed tomography หรือ micro-CT โดยการฉายรังสีเอ็กส์เข้าไปในซากดึกดำบรรพ์เพื่อศึกษาลักษณะภายใน ได้ภาพตัดขวางที่มีความละเอียดสูง และเป็น 3 มิติได้ด้วย ปัจจุบันใช้กันมากในวงการแพทย์

          จากการศึกษาพบว่า เป็นลักษณะการถูกกัดโดยนักล่าทำให้มีการติดเชื้อ กระดูกมีการสร้างใหม่ พร้อมกับการติดเชื้ออย่างรุนแรง และมีระยะเวลาการติดเชื้อที่ยาวนาน ก่อนที่สัตว์นั้นจะตายลง

          การติดเชื้อนี้ เรียกว่า osteomyelitis ซึ่งในกรณีนี้มีการเกิดลักษณะคล้ายฝีในกระดูก ซึ่ง Osteomyelitis เป็นการติดเชื้อที่รุนแรงในไขกระดูก มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย pyogenic (pus-producing) เข้าไปในกระดูก ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด ในกรณีดังกล่าวเคยพบว่า เกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้วในไดโนเสาร์กลุ่มไททันโนซอร์ (Titanosaurs) ในประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นการติดเชื่อแบคทีเรียในกระดูกสันหลัง

         ลักษณะรอยแผลและตำแหน่งของซี่โครงนั้นเราคิดว่าการติดเชื้ออาจเกิดจากการเจาะทะลุจากการกัด รูปหยดน้ำแสดงให้เห็นว่าความเสียหายเกิดจากฟันหรือกรงเล็บ และสอดคล้องกับหลักฐานการบาดเจ็บจากการกัดของนักล่าที่พบในที่อื่นในประวัติการศึกษาซากดึกดำบรรพ์จากแห่งอื่นด้วย
ลักษณะภายในของกระดูกลูเฟ็งโกซอรัส แสดงการสร้างใหม่ และมีการติดเชื้อ เครดิต : Patrick Randolph-Quinney, UCLan

         สิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับกรณีศึกษานี้ คือ ทำให้เรามีหลักฐานความสัมพันธ์ ระหว่างไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ (sauropod) และ นักล่า (อาจเป็นไดโนเสาร์ หรือ สัตว์ร่วมยุคอื่นๆ) ที่อาศัยอยู่ในเวลานั้น เราไม่เพียงแต่มีหลักฐานของโรค ยังบ่งบอกพฤติกรรมระหว่างเหยื่อ และนักล่าในช่วงยุคนั้นด้วย
       
          คณะวิจัยยังไม่ทราบได้ว่า นักล่าที่ทิ้งรอยไว้บนซากดึกดำบรรพ์ของเจ้าลูเฟ็งโกซอระสนั้น เป็นใคร แต่จากลักษณะบาดแผลการโจมตีที่พลาดนั้น น่าจะเป็นเจ้าไซโนซอรัส (Sinosaurus) ซึ่งเป็นนักล่าที่รู้จักกันดีในยุคจูราสสิคตอนต้น ที่มีการค้นพบในมณฑลยูนนานด้วย
ไซโนซอรัส ไดโนเสาร์นักล่าที่อาศัยอยู่ร่วมยุคเดียวกันกับลูเฟ็งโกซอรัส เครดิต :
cisiopurple

          ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวได้เข้ามามีบทบาทในวงการซากดึกดำบรรพ์อย่างกว้างขวาง ซึ่งปกติจะใช้เฉพาะวงการแพทย์ ทำให้การศึกษาซากดึกดำบรรพ์มีความง่ายขึ้น เข้าใจอะไรได้มากขึ้น และค้นพบความรู้ใหม่ๆได้มากขึ้น ก็หวังว่าในอนาคตจะมีข้อมูลหรือหลักฐานใหม่ ที่แสดงให้เห็นว่าเพื่อนร่วมโลกที่เคยมีชีวิตอยู่มาก่อนเรานั้น มีความเป็นอยู่อย่างไร มีพฤติกรรมเป็นอย่างไร หรือหน้าตาเป็นอย่างไร ความรู้เหล่านี้อาจจะทำให้สะเทือนวงการวิทยาศาสตร์เลยก็เป็นได้ รอเฝ้าติดตามกันต่อไป...



แหล่งที่มา : http://theconversation.com/the-dinosaur-that-got-away-how-we-diagnosed-a-200-million-year-old-infected-predator-bite-93628

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลไทรแอสสิก

“ยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลไทรแอสสิก”  อิกธิโอซอร์ เครดิต : Nobumichi Tamura           การค้นพบอีกหนึ่งครั้งสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ คือ...