ยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลไทรแอสสิก

“ยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลไทรแอสสิก” 

อิกธิโอซอร์ เครดิต : Nobumichi Tamura

          การค้นพบอีกหนึ่งครั้งสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ คือ การค้นพบซากดึกดำบรรพ์กระดูกขากรรไกรของสัตว์เลื้อยคลานทะเล อายุ 205 ล้านปีก่อน หรือยุคไทรแอสสิกตอนปลาย ซึ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมา 

     
กระดูกขากรรไกรล่างของอิกธิโอซอร์ที่หาดลิลสต็อก
เครดิต : Dean Lomax
         เจ้าซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบนั้น คือ อิกธิโอซอร์ (Ichthyosaur) ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานทะเลร่วมยุคเดียวกับไดโนเสาร์ ผู้เชี่ยวชาญได้คาดคะเนความยาวตลอดทั้งตัว ประมาณ 26 เมตร ซึ่งมีขนาดเท่าๆกับวาฬสีน้ำเงินเลยทีเดียว

          ซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าวได้ถูกค้นพบโดย นักสะสมซากดึกดำบรรพ์และคณะนักวิจัย บริเวณหาดลิลสต็อก เมืองโซเมอเซ็ต เกาะอังกฤษ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2016 พวกเขาได้กลับมายังพื้นที่ค้นพบหลายครั้งก็พบหลักฐานใหม่ๆอีกหลายชิ้นในบริเวณนี้ โดยพบซากดึกดำบรรพ์ขนาดยาวถึง 1 เมตร

       



           คณะนักวิจัยได้กล่าวว่า ตอนแรกที่พบกระดูกมันดูเหมือนเป็นก้อนหิน แต่หลังจากพิจารณาถึงร่องรอยและโครงสร้าง ทำให้คิดว่ามีลักษณะเหมือนเป็นส่วนหนึงของกรามของอิกธิโอซอร์ จึงได้ติดต่อไปยังดีน โลแม็กซ์ ซึ่งเป็นผู้เชียวชาญด้านอิกธิโอซอร์ แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ และเชิญนักธรณีวิทยา เพื่อมาประเมินพื้นที่และกำหนดหาอายุของหินในพื้นที่ดังกล่าว

          ทีมสำรวจได้สำรวจพบกระดูกมีสภาพไม่สมบูรณ์ เป็นกระดูกขากรรไกรล่างของอิกธิโอซอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งพบเป็นเพียงส่วนเดียวของกะโหลกเท่านั้น พวกเขาได้เปรียบเทียบกระดูกดังกล่าวจากกระดูกของอิกธิโอซอร์ที่จัดเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ Royal Tyrrell ในรัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา โดยเปรียบเทียบกับอิกธิโอซอร์วงศ์ชาสตาซอริด (Shastasaurid) คือ โชนิซอรัส (Shonisaurus) ซึ่งมีความยาว 21 เมตร เป็นอิกธิโอซอร์วงศ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมาก่อน พบว่ากระดูกมีความคล้ายคลึงกัน จึงคาดว่าน่าจะเป็นอิกธิโอซอร์ที่อยู่ในวงศ์ชาสตาซอริด 
ซากดึกดำบรรพ์ขากรรไกรล่างของอิกธิโอซอร์วงศ์ชาสตาซอริด (Shastasaurid) ที่พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ Royal Tyrrell
เครดิต : Nobumichi Tamura & Scott Hartman

          ตัวอย่างที่พบในลิลสต็อกมีความยาวกว่าตัวอย่างอิธิโอซอร์ที่มีอยู่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ คาดคะเนว่าจะมีความยาวลพตัวประมาณ 20 – 25 เมตร แต่อย่างไรก็ตามความยาวดังกล่าวอาจไม่ถูกต้อง เนื่องจากความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ของอิกธิโอซอร์ และการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ยังมีน้อย ยากต่อการเปรียบเทียบ


แหล่งอ้างอิง : Dean R. Lomax, Paul De la Salle, Judy A. Massare, Ramues Gallois. A giant Late Triassic ichthyosaur from the UK and a reinterpretation of the Aust Cliff ‘dinosaurian’ bones. PLOS ONE, 2018; 13 (4): e0194742 DOI: 10.1371/journal.pone.0194742

แฝดแปด


“แฝดแปด” 

อิกธอโอซอร์ที่มีการตั้งครรภ์ เครดิต : Nobumichi Tamura

          นักบรรพชีวินวิทยาค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลื้อยคลานทะเลอิกธิโอซอร์ (Ichthyosaur) ที่มีการตั้งครรภ์ โดยพบว่ามีกระดูกขนาดเล็กๆ จำนวน 6 – 8 ชิ้น ของตัวอ่อนอยู่ภายในช่องท้องของมัน 

          ตัวอย่างที่ค้นพบนี้ถูกศึกษาโดยนักบรรพชีวินวิทยาชื่อว่า ไมค์ บอนด์ และ ดีน โลแม็กส์ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ซึ่งตัวอย่างนี้ถูกจัดเก็บได้ในปี 2010 ใกล้กับเมืองวิทบี้ รัฐยอร์กชอร์ตอนเหนือ สหราชอาณาจักร มีอายุจูราสสิกตอนต้น โดยถูกจัดเก็บโดยมาติน ริกบี้ ซึ่งในตอนแรกคิดว่าซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าวอาจจะมีตัวอ่อนอยู่ด้วย ในตอนหลังได้รับการยืนยันจากนักบรรพชีวินวิทยาแล้ว ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณธ์ยอร์กไชร์ 

ซากดึกดำบรรพ์อิกธิโอซอร์ที่มีการตั้งครรภ์ เครดิต : มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์

       
อิกธิโอซอร์ เครดิต : everythingdinosaur
       อิกธิโอซอร์ (Ichthyosaurs) เป็นสัตว์เลื้อยคลานทะเลที่มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคจูราสสิก พวกมันให้กำเนิดลูกน้อยโดยการออกลูกเป็นตัว แทนที่จะเป็นการวางไข่ และไม่ต้องกลับไปยังถิ่นกำเนิดเก่าเพื่อวางไข่อีกด้วย พวกมันเป็นสัตว์กินเนื้อ โดยกินสัตว์เลื้อยคลายขนาดเล็ก ปลา และสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ปลาหมึก เป็นต้น 

          ซากดึกดำบรรพ์อิกธิโอซอร์ (Ichthyosaurs) พบได้ทั่วไปในสหราชอาณาจักร มักพบในหินยุคจูราสสิก ซากดึกดำบรรพ์อิกธิโอซอร์มีการค้นพบเพียง 5 ตัวอย่าง ที่มีซากตัวอ่อนอยู่ภายใน โดยทั้ง 5 ตัวอย่างนี้พบในหินจูราสสิกทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษ มีอายุ 200 – 190 ล้านปีก่อน 

         หินยุคจูราสสิกในยอร์กไชร์มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์อิกธิโอซอร์และสัตว์เลื้อยคลานทะเลอื่นๆอีกนับร้อยตัวอย่าง แต่ไม่เคยมีการค้นพบว่ามีซากดึกดำบรรพ์ที่มีตัวอ่อนอยู่ภายในอยู่ในบริเวณนี้ และการค้นพบนี้ยังเป็นตัวอย่างที่มีตัวอ่อนอายุน้อยที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมาในบริเวณนี้ โดยมีอายุประมาณ 180 ล้านปี 

         ในการศึกษาครั้งนี้ได้นำตัวอย่างมาตัดเป็นแผ่นหินขัดมันขนาดเล็ก นำไปส่องในกล้อง พบว่ามีเศษกระดูกสันหลังขนาดเล็ก อยู่ภายในช่องท้อง คาดว่ามีตัวอ่อนอยู่ภายในอย่างน้อย 6 ตัว อาจมากที่สุดถึง 8 ตัว 
ตัวอย่างแผ่นหินที่นำมาตัดเพื่อส่องดูภายใน เครดิต : Yorkshire Geological Society

          ไมค์ยังกล่าวว่า “ อาจมีความเป็นไปได้ว่าชิ้นส่วนเล็กๆนี้อาจเป็นกระเพาะอาหาร แต่มันคงไม่กลืนตัวอ่อนไปพร้อมกันทีเดียวถึง 6 -8 ตัวพร้อมกัน และดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะว่า ไม่พบหลักฐานของการกัดกร่อนของกรดในกระเพาะอาหาร และไม่พบเศษชื้นส่วนของสัตว์ชนิดอื่นที่มันกินเข้าไป 

     
    มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์อิกธิโอซอร์ในเยอรมนี ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกับที่เมืองวิทบี้ ถูกระบุชนิดเป็น สตีโนเทอรีเจียส (Stenoterygius) ซึ่งซากดึกดำบรรพ์ที่พบที่นี่อาจจะเป็นชนิดเดียวกันกับที่พบในเยอรมนีด้วย 
สตีโนเทอรีเจียส (Stenoterygius) ซากดึกดำบรรพ์ที่พบในเยอรมนี เครดิต :  Motani et al. 2014

          ซาร่าห์ คิง ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติยอร์กไชร์ กล่าวว่า “ นี่เป็นการค้นพบที่เหลือเชื่อ และงานวิจัยของดีนและไมค์ ช่วยยืนยันว่าซากดึกดำบรรพ์อิกธิโอซอร์ที่พบมีตัวอ่อนอยู่ภายใน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ค้นพบหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนโยนและการทะนุถนอมของสัตว์เลื้อยคลานทะเล ซึ่งเป็นนักล่าอันดับต้นๆในยุคนั้นอีกด้วย”


แหล่งอ้างอิง : Boyd, M. J. and Lomax, D. R. The youngest occurrence of ichthyosaur embryos in the UK: A new specimen from the Early Jurassic (Toarcian) of Yorkshire. Proceedings of the Yorkshire Geological Society, 2018 DOI: 10.1144/pygs2017-008

ยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลไทรแอสสิก

“ยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลไทรแอสสิก”  อิกธิโอซอร์ เครดิต : Nobumichi Tamura           การค้นพบอีกหนึ่งครั้งสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ คือ...